เซอร์วินสตัน ลีโอนาร์ด สเปนเซอร์-เชอร์ชิล (อังกฤษ: Winston Leonard Spencer-Churchill) เป็นรัฐบุรุษชาวอังกฤษผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรสองสมัย ระหว่างปี 1940 ถึง 1945 และปี 1951 ถึง 1955 ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสงครามของศตวรรษที่ 20 นอกจากนี้เชอร์ชิลยังเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ, นักประวัติศาสตร์, นักเขียน, ตลอดจนศิลปิน เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาอักษรศาสตร์ เป็นบุคคลแรกที่ได้เป็น พลเมืองเกียรติยศแห่งสหรัฐอเมริกา
เชอร์ชิลเกิดในตระกูลชนชั้นสูงที่สืบเชื้อสายมาจากดยุกแห่งมาร์ลบะระ สาขาหนึ่งของตระกูลสเปนเซอร์ บิดาของเขาคือ ลอร์ดรันดอล์ฟ เชอร์ชิล นักการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง ส่วนมารดาของเขาคือ เจนนี จีโรม นักสังคมสงเคราะห์ชาวอเมริกัน ในขณะที่ยังเป็นทหารหนุ่ม เขาได้ปฏิบัติภารกิจในบริติชอินเดีย และซูดาน และในสงครามโบเออร์ครั้งที่สอง เขามีชื่อเสียงขึ้นมาจากการเป็นนักข่าวสงครามและเขียนหนังสือเกี่ยวกับปฏิบัติการของเขา
เขาเป็นผู้มีบทบาททางการเมืองแถวหน้ามาตลอดห้าสิบปี ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีมากมาย ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเขาเป็นหัวหน้ากรรมการการค้า, รัฐมนตรีปิตุภูมิ, และรัฐมนตรียุติธรรม ระหว่างสงคราม เขายังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรม จนกระทั่งความพ่ายแพ้ของอังกฤษในการทัพกัลลิโพลี ทำให้เขาต้องออกจากคณะรัฐบาลและไปประจำการราชการทหารอยู่ที่แนวหน้าภาคตะวันตกในตำแหน่งผู้บัญชาการกองพันลูกเสือที่ 6 จนกระทั่งเขาได้กลับคืนคณะรัฐบาลในตำแหน่งรัฐมนตรียุทธภัณฑ์ รัฐมนตรีว่าการสงคราม และ รัฐมนตรีน่านฟ้า และในปี 1921-1922 เป็นรัฐมนตรีว่าการอาณานิคม และต่อมาในปี 1924-1929 เป็นรัฐมนตรีคลังหลวง โดยเขาได้กำหนดให้สกุลเงินปอนด์กลับไปอิงค่าทองคำเหมือนกับยุคก่อนสงคราม ซึ่งทำให้เกิดภาวะเงินฝืดแพร่ไปทั้งเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร
ภายหลังห่างหายจากงานการเมืองไปในทศวรรษที่ 1930 เชอร์ชิลก็ได้กลับมาทำงานการเมืองอีกครั้งเมื่อนาซีเยอรมนีเริ่มที่จะสั่งสมกำลังทหารและดูจะเป็นภัยคุกคามต่ออังกฤษ และแล้วการอุบัติขึ้นอย่างฉับพลันของสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ทำให้เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรียุติธรรมอีกครั้ง และภายหลังการลาออกของนายกรัฐมนตรี เนวิล เชมเบอร์ลิน ในวันที่ 10 พฤษภาคม 1940 เชอร์ชิลก็กลายเป็นนายกรัฐมนตรี คำประกาศหนักแน่นของเขาที่จะไม่เป็นผู้ยอมแพ้ได้ช่วยกระตุ้นให้ชาวอังกฤษหันมาต่อต้านนาซีเยอรมนี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นสงครามซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยากเย็นเมื่อสหราชอาณาจักรและอาณานิคมอังกฤษเป็นเพียงฝ่ายเดียวที่ลุกขึ้นอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เชอร์ชิลได้กล่าวสุนทรพจน์ของเขาผ่านวิทยุกระจายเสียงปลุกขวัญกำลังใจชาวอังกฤษ เขาเป็นผู้นำของอังกฤษไปจนกระทั่งสามารถมีชัยเหนือนาซีเยอรมนีได้ แต่ทว่าการได้รับชัยชนะมาต้องแลกกับการสูญเสียการเป็นอภิมหาอำนาจของโลกให้กับสหรัฐอเมริกาไป เหล่าประเทศอาณานิคมที่ยึดครองได้แก่ อินเดีย มาเลเซีย พม่า เป็นต้นต่างก็ได้เรียกร้องเอกราชจนจำใจต้องยอมเป็นเหตุทำให้จักรวรรดิอังกฤษล่มสลายและกลายเป็นเครือจักรภพแห่งชาติแทน
ภายหลังพรรคอนุรักษนิยมพ่ายการเลือกตั้งในปี 1945 เขาก็ทำหน้าที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านต่อรัฐบาลพรรคแรงงาน เขาได้ออกมาเตือนอย่างเปิดเผยถึงอิทธิพลของโซเวียตในยุโรปผ่านมาตรการ "ม่านเหล็ก" และยังส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวของยุโรป ภายหลังชนะเลือกตั้งในปี 1951 เชอร์ชิลก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในช่วงการดำรงตำแหน่งครั้งที่สองนี้ รัฐบาลของเขาเต็มไปด้วยข้อราชการต่างประเทศ ทั้งวิกฤตการณ์มาลายา, กบฎมาอูมาอูในเคนยา, สงครามเกาหลี ตลอดจนสนับสนุนการรัฐประหารในอิหร่าน ในปี 1953 เขาเริ่มเจ็บป่วยจากภาวะขาดเลือดในสมอง และลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1955 แต่เขายังคงเป็นสมาชิกสภาสามัญชนไปจนถึงปี 1964 เชอร์ชิลถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย 90 ปีในปี 1965 โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชทานรัฐพิธีศพให้เป็นเกียรติ เขายังคงได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติอังกฤษ ชื่อของเขาอยู่ในลำดับที่ 1 ของทำเนียบชาวอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลจากการจัดอันดับในปี 2002
วินสตันเกิดเมื่อ 30 พฤศจิกายน 1874 ที่วังเบลนิม เกิดมาในครอบครัวชนชั้นสูงซึ่งสืบทอดบรรดาศักดิ์ดยุกแห่งมาร์ลบะระ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของตระกูลสเปนเซอร์ ตระกูลขุนนางเก่าแก่ ด้วยเหตุนี้บิดาเขาและตัวเขาจึงใช้นามสกุลว่า "สเปนเซอร์-เชอร์ชิล"
บรรพบุรุษของเขา จอร์จ สเปนเซอร์ ได้เปลี่ยนไปใช้นามสกุล สเปนเซอร์-เชอร์ชิล เมื่อได้ขึ้นเป็นดยุกแห่งมาร์ลบะระในปี 1817 โดยบิดาของวินสตันคือ ลอร์ด รันดอล์ฟ เชอร์ชิล นั้นเป็นนักการเมืองซึ่งเป็นบุตรของจอห์น สเปนเซอร์-เชอร์ชิล ดยุกที่ 7 แห่งมาร์ลบะระ ส่วนมารดาของเขา ท่านหญิงรันดอล์ฟ เชอร์ชิล เป็นบุตรสาวของเศรษฐีชาวอเมริกันนามว่าลีโอนาร์ด เจอโรม
เมื่ออายุได้สองขวบ เขาได้ย้ายไปอาศัยในดับลินในไอร์แลนด์ ซึ่งปู่ของเขาได้รับแต่งตั้งเป็นอุปราชของที่นั่นและแต่งตั้งบิดาของเขาเป็นเลขาส่วนตัว ซึ่งในช่วงเวลานี้ มารดาของเขาได้ให้กำเนิดบุตรคนที่สอง คือ จอห์น สเตรนจ์ สเปนเซอร์-เชอร์ชิล จากการที่วินสตันเป็นหลานของอุปราช ทำให้เขาได้เห็นการสวนสนามบ่อย ๆ ในที่ทำงานของปู่ (ปัจจุบันคือทำเนียบประธานาธิบดีไอร์แลนด์) ทำให้วินสตันตัวน้อยเกิดความชอบทหารขึ้น
ในขณะที่อยู่ในดับลิน วินสตันมีพี่เลี้ยงคอยสอนการเขียนอ่านและวิชาคณิตศาสตร์ ด้วยเหตุที่วินสตันไม่ค่อยได้เจอพ่อแม่ ทำให้เขาสนิทสนมกับพี่เลี้ยง นางเอลิซาเบธ อันน์ เอเวอเรสต์ เป็นอย่างมาก นางเป็นทั้งพี่เลี้ยง, พยาบาล และแม่นม โดยทั้งสองมักจะพากันไปเล่นที่สวนสาธารณะฟีนิกซ์เสมอ ๆ
วินสตันในวัยเด็กนั้น มีนิสัยดื้อและไม่ชอบเชื่อฟังใคร ดังนั้นเมื่อเข้าศึกษาในโรงเรียนเขาจึงมีผลการเรียนไม่ดีเขาเข้าศึกษาในโรงเรียนเอกชนสามแห่ง คือ โรงเรียนเซนต์จอร์จในเบิร์กเชอร์, โรงเรียนบรันสวิกใกล้กับไบรตัน และ โรงเรียนฮาร์โรวในลอนดอนซึ่งเป็นโรงเรียนที่เขาไม่ชอบเอาเสียเลย ที่ฮาร์โรวนี้ เขาได้เข้าเป็นสมาชิกในหน่วยปืนไรเฟิลฮาร์โรว ในขณะที่เรียนอยู่ที่ฮาร์โรว วินสตันเป็นเด็กอ้วนเตี้ยผมแดงและพูดติดอ่าง ถึงจะมีผลการเรียนในวิชาคณิตศาสตร์เป็นอันดับหนึ่งในชั้นเรียน แต่ผลการเรียนรวมกลับเป็นอันดับที่โหล่ในห้องบ๊วยของชั้นและก็ติดอันดับนี้เรื่อยมา แม้ว่าการเรียนจะทำได้ไม่ดีแต่วินสตันกลับชอบวิชาภาษาอังกฤษ ในช่วงที่เขาเรียนอยู่ฮาร์โรวนี้ มารดาของเขาแทบจะไม่มาเยี่ยมเลยถึงขนาดที่เขาต้องเขียนจดหมายไปขอให้ทางบ้านมาเยี่ยมบ้างหรือไม่ก็ยอมให้เขากลับไปบ้าน ยิ่งความสัมพันธ์กับบิดานั้นยิ่งห่างเหิน บิดาของเขาถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ 24 มกราคม 1895 ในวัย 45 ปี การตายของบิดานั้นได้ทำให้วินสตันฉุกคิดขึ้นได้ว่า เขาอาจจะต้องตายเมื่ออายุยังไม่มากเหมือนบิดา ดังนั้นเขาจึงควรรีบทำอะไรซักอย่างเพื่อจารึกชื่อเขาลงในประวัติศาสตร์
หลังจากวินสตันออกจากแฮร์โรวในปี 1893 เขาก็เข้าเรียนต่อในราชวิทยาลัยการทหาร เมืองแซนด์เฮิสต์ ซึ่งเขาต้องสอบถึงสามครั้งกว่าจะผ่านเข้าเรียน โดยเขาเข้าเรียนในหมวดทหารม้าแทนที่จะเป็นทหารราบ เนื่องจากทหารม้าต้องการผลการเรียนที่ต่ำกว่าและเขาไม่อยากเรียนคณิตศาสตร์อีก เขาจบการศึกษาเป็นคนที่ 8 ของห้องเรียนซึ่งมี 150 คนในเดือนธันวาคม 1894 และแม้ว่าตอนนี้เขาจะสามารถโอนย้ายไปหมวดทหารราบตามที่บิดาหวังไว้ แต่เขากลับเลือกที่จะสังกัดทหารม้าและได้ยศเป็นร้อยตรีประจำ กรมทหาร 4th Queen's Own Hussars ในเดือนกุมภาพันธ์ 1895 ซึ่งปีเดียวกันนี้เขาได้เดินทางไปยังคิวบาเพื่อสังเกตการณ์การต่อสู้ระหว่างกองทัพสเปนกับฝ่ายกองกำลังปลดแอกคิวบา ระหว่างอยู่ที่คิวบานี้เองเขาได้สูบฮาวานาซิการ์และสูบเรื่อยมาตลอดชีวิตเขา ในปี 1941 เขาได้รับโปรดเกล้าเป็นกรณีพิเศษเป็นผู้พันประจำกรมทหาร 4th Hussars ซึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เขาได้รับโปรดเกล้าให้อวยยศนี้ขึ้นอีกเป็นผู้บัญชาการ ซึ่งปกติ สิทธิพิเศษนี้มีแต่สำหรับพระบรมวงศ์เท่านั้น
วินสตันได้รับค่าตอบแทนในยศร้อยตรีประจำ 4th Hussars ปีละ 300 ปอนด์ อย่างไรก็ตาม เขาคิดว่าเขาต้องการอย่างน้อยปีละ 500 (เทียบเท่า ?55, 000 ในปี 2012) เพื่อให้เขามีวิถีชีวิตที่ดีเทียบเท่านายทหารคนอื่น ๆ ในหน่วย แม้ว่ามารดาจะส่งเงินให้เขาปีละ 400 ปอนด์แต่ก็ไม่พอเนื่องจากเขาเป็นคนมือเติบ วินสตันไม่สนใจการเลื่อนยศมากนักเหมือนที่ทหารคนอื่น ๆ เป็น เขาต้องการเป็นผู้สื่อข่าวสายทหารโดยต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในปฏิบัติการต่าง ๆ โดยอาศัยเส้นสายของครอบครัวที่มีอยู่ในสังคมชั้นสูง เขาเป็นผู้สื่อข่าวให้แก่หนังสือพิมพ์ในลอนดอนเป็นระยะเวลากว่าเจ็ดปี นอกจากนี้ยังมีงานเขียนเกี่ยวกับปฏิบัติการต่าง ๆ เป็นของตนเอง
ต้นเดือนตุลาคม 1896 เขาถูกโอนย้ายไปประจำการยังบริติชราช ในขณะที่เรือกำลังเทียบท่าที่มุมไบเขาประสบอุบัติเหตุทำให้ข้อไหล่ขวาหลุด ทำให้เขาใช้แขนขวาได้ไม่เต็มที่ไปตลอดชีวิต เขาเคยเป็นนักโปโลมือหนึ่งในหน่วย แม้หลังบาดเจ็บเขาก็ยังคงเล่นโปโลต่อไปแต่ใช้สายหนังหิ้วแขนขวาแทน
ในปีเดียวกันเขาก็เดินทางไปบังคาลอร์ในฐานะนายทหารหนุ่ม ในหนังสือของเขาอธิบายว่า บังคาลอร์มีสภาพอากาศเยี่ยม และที่อยู่ของเขาเป็นวังสีชมพูขาวใจกลางสวนหย่อมงดงามรายล้อม มีคนใช้ชื่อโธพิ, มีคนสวน, มียาม และมีคนหามน้ำ ในบังคาลอร์นี้เองที่เขาได้พบกับสตรีชื่อ พาเมลลา พลอว์เดน (Pamela Plowden) ลูกสาวของคนใช้และเป็นรักแรกของเขา วินสตันยังได้อธิบายถึงสตรีชาวอังกฤษในอินเดียว่าพวกหล่อนนั้นไม่เป็นที่พึงประสงค์เพราะมีความมั่นใจในความงามของตนเองจนเกินไป จดหมายที่เขาเขียนถึงบ้านยังแสดงให้เห็นว่า เขาพยายามเป็นกลางและหลีกเลี่ยงประเด็นการเมืองอังกฤษซึ่งกำลังมีความขัดแย้งระหว่างสองฝ่าย คือฝ่ายค้านที่มีลอร์ดโรสเบรีกับโจเซฟ เชมเบอร์ลิน และฝ่ายรัฐบาลลอร์ดลันสดาวน์ที่ต้องการเพิ่มงบประมาณกองทัพ
ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 1900 เขาชนะการเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.จากโอลด์แฮม หลังจากชนะการเลือกตั้งเขาก็เริ่มเดินสายปราศรัยทั้งในเกาะบริเตนและสหรัฐอเมริกา สร้างรายได้ให้แก่เขาถึง 10, 000 ปอนด์ (เทียบเท่า 980, 000 ปอนด์ในปัจจุบัน) นอกจากนี้ระหว่างปี 1903 ถึง 1905 เขายังได้ร่วมเขียนหนังสือชีวประวัติสองเล่มของบิดา ลอร์ดรันดอล์ฟ เชอร์ชิล
วาระแรกในรัฐสภา วินสตันไปสมาคมอยู่กับพรรคอนุรักษนิยมซึ่งในขณะนั้นเป็นเสียงข้างน้อยนำโดย ลอร์ดฮิวจ์ เซซิล ซึ่งมีชื่อเรียกลำลองในสภาว่า "พวกฮิวจ์" วินสตันได้อภิปรายคัดค้านรายจ่ายด้านการทหารของรัฐบาล ตลอดจนคัดค้านการเสนอให้ขึ้นภาษีของรัฐมนตรีโจเซฟ เชมเบอร์ลิน การคัดค้านของวินสตันก็เพื่อหวังรักษาอิทธิพลทางเศรษฐกิจของอังกฤษ ในขณะที่พวกฮิวจ์ส่วนใหญ่ดูจะสนับสนุนนโยบายขึ้นภาษี ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปวินสตันก็ยังสามารถรักษาเก้าอี้ส.ส.ของตนเองไว้ได้ แต่ด้วยความขัดแย้งเรื่องนโยบายภาษีกับพรรคอนุรักษนิยม เขาก็ตัดสินใจครั้งสำคัญโดยย้ายไปสังกัดพรรคเสรีนิยมแทน ในฐานะสมาชิกพรรคเสรีนิยม เขายังคงสนับสนุนแนวคิดเรื่องเขตการค้าเสรี และเมื่อพรรคเสรีนิยมได้เป็นรัฐบาลที่นำโดยเซอร์เฮนรี แคมป์เบล-แบนเนอร์มัน ในปี 1905 วินสตันก็ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการอาณานิคม ดูแลนิคมแอฟริกาใต้ภายหลังสงครามโบเออร์ และมีส่วนร่างรัฐธรรมนูญทรานส์วาลซึ่งหวังนำเสถียรภาพมาสู่นิคมแอฟริกาใต้ วินสตันได้สูญเสียเก้าอี้ส.ส.จากโอลด์แฮมไปในการเลือกตั้งปี 1906
ส.ส. เชอร์ชิลเป็นบุคคลที่ต่อต้านความเคลื่อนไหวต่างๆเพื่อปลดแอกอินเดียรวมถึงต่อต้านกฎหมายที่จะให้เอกราชแก่อินเดีย ในปี 1920 เขากล่าวว่า "คานธีควรจะถูกมัดมือมัดเท้าไว้หน้าประตูเมืองเดลี แล้วก็ปล่อยให้ช้างตัวเบ้อเร่อเหยียบ" ยังมีเอกสารระบุในภายหลังอีกว่า เชอร์ชิลอยากจะเห็นคานธีอดอาหารให้ตายๆไปซะ เชอร์ชิลเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มที่มีชื่อว่า สันนิบาตป้องกันอินเดีย (India Defence League) เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อธำรงไว้ซึ่งอิทธิพลของอังกฤษในอินเดีย ในปี 1930 เชอร์ชิลออกมาประกาศว่า กลุ่มคนและทุกอย่างของลัทธิคานธีจะต้องถูกจับกุมและถูกทำลาย เชอร์ชิลถึงขนาดแตกหักกับนายกรัฐมนตรีบอลดวินที่จะเริ่มกระบวนการให้เอกราชแก่อินเดีย โดยกล่าวว่าจะไม่ขอรับตำแหน่งใดๆในรัฐบาลอีกตราบใดที่บอลดวินยังเป็นนายกฯอยู่
ในวันที่ 10 พฤษภาคม 1940 ไม่กี่ชั่วโมงก่อนเยอรมนีจะเข้าบุกฝรั่งเศสด้วยกลยุทธ์บลิทซ์ครีกผ่านกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ หลังจากความล้มเหลวของปฏิบัติการในประเทศนอร์เวย์ ผู้คนก็สูญเสียความเชื่อมั่นในรัฐบาลของเชมเบอร์ลิน ทำให้เชมเบอร์ลินตัดสินใจลาออก ตัวเต็งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอย่างเอิร์ลแห่งฮาลิแฟกซ์ก็ถอนตัว เนื่องจากเขาไม่เชื่อมั่นว่าตัวเขาซึ่งมาจากสภาขุนนางจะสามารถบริหารบ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน แม้ว่าโดยจารีตประเพณีแล้วนายกรัฐมนตรีจะมิทูลเกล้าฯเสนอชื่อนายกฯคนต่อไป แต่เชมเบอร์ลินต้องการใครซักคนที่จะได้รับแรงสนับสนุนจากทั้งสามพรรคในสภาสามัญชน จึงเกิดการหารือกันระหว่างเชมเบอร์ลิน, ลอร์ดฮาลิแฟกซ์, เชอร์ชิล และเดวิด มาเกรสสัน ในที่สุดพระเจ้าจอร์จที่ 6 ก็ทรงเสนอชื่อเชอร์ชิลขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยสิ่งแรกที่เชอร์ชิลทำคือการเขียนจดหมายขอบคุณเชมเบอร์ลินที่สนับสนุนเขา
ตอนปลายของยุทธการที่ฝรั่งเศส กองทัพฝรั่งเศสและอังกฤษในภาคพื้นทวีปต่างพ่ายแพ้ต่อเยอรมัน หมู่เกาะอังกฤษตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤตที่สุดในประวัติศาสตร์ ผู้คนต่างหวาดผวารุกรานโดยนาซีเยอรมนี ทันใดนั้นก็เกิดปาฏิหาริย์แห่งดันเคิร์กขึ้นซึ่งช่วยทหารไว้กว่าสามแสนนาย ในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1940 นายกรัฐมนตรีเชอร์ชิลได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาสามัญชน สุนทรพจน์นี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ We shall fight on the beaches ซึ่งบางส่วนของสุนทรพจน์ดังกล่าวได้รับการยอมรับว่าเป็นวลีที่ดีที่สุดแห่งยุค
...วันนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้ขอสภาให้กำหนดบ่ายวันนี้เป็นวาระพิเศษเพื่อกล่าวแถลง ผมมีความลำบากใจเป็นอย่างมากที่จะต้องประกาศหายนะทางการทหารที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อันยาวนานของเรา...รากเหง้า แก่น และมันสมองของกองทัพบริเตน...ดูเหมือนกำลังจะพังทลายลงในสนามรบ...ปาฏิหาริย์การปลดปล่อยซึ่งสำเร็จได้จากความกล้าหาญ จากความบากบั่น กลายเป็นที่ประจักษ์แก่เราทุกคน และราชนาวีด้วยความช่วยเหลือของชาวเรือพาณิชย์นับไม่ถ้วน ได้ใช้เรือทุกชนิดเกือบพันลำ นำพากว่า 335,000 นายทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษ ให้รอดพ้นจากความตายและความอัปยศ...มีคนบอกว่าเฮอร์ฮิตเลอร์มีแผนรุกรานหมู่เกาะอังกฤษ ข้อนี้ก็เคยคิดกันมาก่อนหลายครั้ง...เราจะขอพิสูจน์ตนเองอีกครั้งหนึ่งเพื่อปกป้องแผ่นดินเกิดของเรา และเราจะผ่านพ้นภัยทรราชนี้...
แม้ว่าพื้นที่มากมายในยุโรปและรัฐเก่าแก่ขึ้นชื่อได้พ่ายแพ้หรืออาจตกอยู่ใต้เงื้อมมือของเกสตาโปและระบอบนาซีที่น่ารังเกียจก็ตาม เราจะอ่อนล้าหรือล้มเหลวไม่ได้
เราจักก้าวเดินไปถึงจุดจบ เราจักสู้ในฝรั่งเศส เราจักสู้ในท้องทะเลและมหาสมุทร เราจักสู้ด้วยความเชื่อมั่นและพลังที่เติบใหญ่ในท้องนภา เราจักปกป้องเกาะของเราไม่ว่าจะแลกด้วยอะไร เราจักสู้บนชายหาด เราจักสู้บนลานบิน เราจักสู้บนท้องทุ่งและท้องถนน เราจักสู้ในหุบเขา เราจักสู้บนเนินเขา เราจักไม่มีวันแพ้...